cw.in.th > คลังความรู้ > การหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.101/2544
14-Nov-2016

การหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.101/2544

คำชี้แจงกรมสรรพากร

การหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.101/25444

สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากรมีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย

--------------------------------

ตามที่ได้มีการออกกฎกระทรวง ฉบับที่ 229 (พ.ศ.2544) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยภาษีเงินได้ และคำสั่ง กรมสรรพากรที่ ท.ป.101/2544 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2544 ซึ่งกรมสรรพากรได้มีคำชี้แจงกรมสรรพากร ลงวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ.2544 คำชี้แจงกรมสรรพากร ลงวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ.2544 และคำชี้แจงกรมสรรพากร ลงวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ.2544 นั้น

กรมสรรพากรขอชี้แจงการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย เพิ่มเติม ดังนี้

 ข้อ   1   การจ่ายเงินได้พึงประเมินที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ.2528 และที่แก้ไขเพิ่มเติมตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.101/2544ฯ ลงวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ.2544 ต้องมีจำนวนตามสัญญารายหนึ่ง ๆ ตั้งแต่หนึ่งพันบาทขึ้นไป แม้การจ่ายนั้นจะได้แบ่งจ่ายครั้งหนึ่ง ๆ ไม่ถึงหนึ่งพันบาท กรณีดังกล่าว หมายความว่า 

(1)  กรณีการทำสัญญารายหนึ่ง ๆ หรือครั้งหนึ่ง ๆ มีการตกลงจ่ายค่าจ้างหรือสินจ้างไม่ถึงหนึ่งพันบาท ผู้จ่ายเงินไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตัวอย่างเช่น

(ก)  กรณีการจ่ายค่าบริการที่เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร ให้กับธนาคารตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ และบริษัทตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ โดยเป็นการจ่ายค่าบริการที่ไม่เข้าลักษณะเป็นสัญญาระยะยาว หากค่าบริการแต่ละรายการที่ให้บริการ (Transaction) ในแต่ละครั้ง มีจำนวนไม่ถึงหนึ่งพันบาท ผู้จ่ายเงินไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย 

 (ข)  กรณีเจ้าของสินค้าทำสัญญาว่าจ้างผู้ขนส่งสินค้า โดยที่สัญญาดังกล่าวไม่เข้าลักษณะเป็นสัญญาระยะยาว หากค่าบริการแต่ละเที่ยวที่ขนส่งสินค้ามีจำนวนไม่ถึงหนึ่งพันบาท ผู้จ่ายเงินไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย

 (2)  กรณีการทำสัญญารายหนึ่ง ๆ หรือครั้งหนึ่ง ๆ มีการตกลงจ่าย ค่าจ้างหรือสินจ้างตั้งแต่หนึ่งพันบาทขึ้นไป แม้จะแบ่งจ่ายเป็นหลายครั้ง ครั้งละไม่ถึงหนึ่งพันบาท ผู้จ่ายเงินมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตัวอย่างเช่น บริษัท ก จำกัด ทำสัญญาเช่าอาคารพาณิชย์ 3 ชั้น จำนวน 1 คูหา จากนาง พ. เป็นระยะเวลา 20 ปี โดยชำระค่าเช่าเป็นรายเดือนเดือนละ 950 บาท กรณีดังกล่าว แม้ว่าบริษัท ก จำกัด จะชำระค่าเช่าในเดือนหนึ่งๆ ไม่ถึงหนึ่งพันบาทก็ตาม แต่โดยที่สัญญาเช่ามีระยะเวลา 20 ปี ซึ่งเมื่อรวมค่าเช่าตลอดอายุสัญญาเช่าแล้วเป็นจำนวนตั้งแต่หนึ่งพันบาทขึ้นไป ดังนั้น เมื่อบริษัท ก จำกัด ชำระค่าเช่าให้กับนาง พ. บริษัท ก จำกัด จึงมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย

(3)  กรณีการให้บริการตามสัญญาระยะยาวซึ่งไม่สามารถคำนวณค่าบริการที่จะได้รับทั้งสิ้นเป็นจำนวนที่แน่นอน แต่ผู้รับบริการจะต้องชำระค่าบริการภายในระยะเวลาที่กำหนด หากการจ่ายค่าบริการไม่ถึงหนึ่งพันบาท ผู้จ่ายเงินไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย แต่หากการจ่ายค่าบริการครั้งต่อไปซึ่งเมื่อนำไปรวมกับค่าบริการครั้งที่ผ่านมาที่มีการจ่ายไปแล้วเป็นจำนวนตั้งแต่หนึ่งพันบาทขึ้นไป ผู้จ่ายเงินมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย โดยจะต้องนำเงินค่าบริการที่จ่ายในครั้งก่อน ๆมารวมคำนวณเพื่อหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายด้วย ตัวอย่างเช่น

(ก)   กรณีการชำระค่าบริการการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่และโทรศัพท์ติดตามตัว ซึ่งแม้ว่าการชำระค่าบริการในครั้งหนึ่ง ๆ จะไม่ถึงหนึ่งพันบาท แต่โดยที่การให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่และโทรศัพท์ติดตามตัวเข้าลักษณะเป็นการให้บริการตามสัญญาระยะยาว ผู้ จ่ายเงินจึงมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย

 (ข)  กรณีเจ้าของเครดิตการ์ดชำระหนี้ค่าสินค้าหรือค่าบริการด้วยเครดิตการ์ด ธนาคารหรือบริษัทเครดิตการ์ดจะจ่ายเงินให้กับร้านค้าและเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากร้านค้า ซึ่งแม้ว่าการชำระค่าธรรมเนียมในครั้งหนึ่ง ๆ จะไม่ถึงหนึ่งพันบาท แต่โดยที่การให้บริการชำระค่าสินค้าหรือค่าบริการด้วยเครดิตการ์ดเข้าลักษณะเป็นการให้บริการตามสัญญาระยะยาว ร้านค้าซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินจึงมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย

(ค)  กรณีการให้บริการของธนาคารแทนผู้จ่ายเงินโดยการโอนเงินเข้าบัญชีของผู้รับเงินหรือจ่ายเช็คให้กับผู้รับเงิน เมื่อธนาคารเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้จ่ายเงิน ซึ่งแม้ว่าการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในครั้งหนึ่ง ๆ จะไม่ถึงหนึ่งพันบาท แต่โดยที่การให้บริการ ดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นการให้บริการตามสัญญาระยะยาว ผู้จ่ายเงินจึงมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย

(4)  กรณีการทำสัญญาที่ผู้จ่ายเงินรายหนึ่งรายใดทำสัญญาในลักษณะทำนองเดียวกันหลาย ๆ สัญญากับผู้รับเงินรายเดียว ซึ่งแต่ละสัญญามีจำนวนไม่ถึงหนึ่งพันบาท หากการจ่ายเงินหลาย ๆ สัญญาดังกล่าวรวมกันเป็นจำนวนตั้งแต่หนึ่งพันบาทขึ้นไป ผู้จ่ายเงินมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตัวอย่างเช่น บริษัท ข จำกัด ทำสัญญาประกันวินาศภัยทรัพย์สินกับบริษัทรับประกันภัย โดยจำแนกเป็น 3 สัญญา ได้แก่ สัญญาประกันวินาศภัยอาคาร สัญญาประกันวินาศภัยเครื่องจักร และสัญญาประกันวินาศภัยรถยนต์ ซึ่งหากบริษัท ข จำกัดได้จ่ายชำระค่าเบี้ยประกันวินาศภัยทั้งสามสัญญารวมกันเป็นจำนวนตั้งแต่หนึ่งพันบาทขึ้นไป บริษัท ข จำกัด มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย

ข้อ   2   กรณีการจ่ายค่าบริการที่ต้องมีการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายให้กับธนาคารตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ และบริษัทตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ โดยเป็นการจ่ายผ่านระบบการหักเงินจากบัญชีธนาคารของผู้จ่ายเงิน ผู้จ่ายเงินมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายทุกครั้งที่มีการหักเงินจากบัญชีธนาคารของผู้จ่ายเงิน โดยมีหน้าที่ต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ให้แก่ธนาคารผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ในทันทีทุกครั้งที่มีการหักภาษี ณ ที่จ่าย และมีหน้าที่ต้องยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ซึ่งการออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ให้ระบุวัน เดือน หรือปีภาษีที่จ่ายเงินได้ เป็นวันเดียวกันกับวันที่มีการหักเงินจากบัญชีธนาคารของผู้จ่ายเงิน กรณีผู้จ่ายเงินมีความประสงค์แต่งตั้งให้ธนาคารผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายเป็นตัวแทนเพื่อดำเนินการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายและลงลายมือชื่อในหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายแทนผู้จ่ายเงิน พร้อมทั้งยื่น รายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย และชำระภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย แทนผู้จ่ายเงิน ก็สามารถกระทำได้ โดยจะต้องจัดทำสัญญาการตั้งตัวแทนและมอบอำนาจให้กระทำการแทนเป็นลายลักษณ์อักษร ทั้งนี้ ธนาคารซึ่งเป็นตัวแทนจะต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายในนามของ ผู้จ่ายเงิน และจะต้องยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายในนามของผู้จ่ายเงิน 

กรณีธนาคารผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายซึ่งเป็นตัวแทน ได้ดำเนินการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายแทนผู้จ่ายเงินซึ่งเป็นตัวการ แล้ว ตัวแทน จะต้องส่งมอบสำเนาหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย สำเนาแบบ ภ.ง.ด.53 และใบเสร็จรับเงินของกรมสรรพากรให้กับผู้จ่ายเงินซึ่งเป็น ตัวการด้วย

ข้อ   3   กรณีการจ่ายค่าบริการที่ต้องมีการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายให้กับผู้ให้บริการ โดยผู้จ่ายเงินได้โอนเงินเข้าบัญชีธนาคารของ ผู้ให้บริการซึ่งเป็นผู้รับเงิน ผู้จ่ายเงินมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายทุกครั้งที่มีการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารของผู้รับเงิน โดยมีหน้าที่ต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ให้แก่ผู้รับเงิน ในทันทีทุกครั้งที่มีการหักภาษี ณ ที่จ่าย และมีหน้าที่ต้องยื่นรายการภาษีเงินได้ หัก ณ ที่จ่าย ซึ่งการออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ให้ระบุวัน เดือน หรือปีภาษีที่จ่ายเงินได้ เป็นวันเดียวกันกับวันที่มีการโอนเงิน เข้าบัญชีธนาคารของผู้รับเงิน 

 กรณีผู้จ่ายเงินมีความประสงค์แต่งตั้งผู้ให้บริการซึ่งเป็นผู้รับเงินเป็นตัวแทนเพื่อดำเนินการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ออกหนังสือ รับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย และลงลายมือชื่อในหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายแทนผู้จ่ายเงิน พร้อมทั้งยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย และชำระภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย แทนผู้จ่ายเงิน ก็สามารถกระทำได้ โดยจะต้องจัดทำสัญญาการตั้งตัวแทนและมอบอำนาจให้กระทำการแทนเป็นลายลักษณ์อักษร ทั้งนี้ ผู้รับเงินซึ่งเป็นตัวแทนจะต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายในนามของผู้จ่ายเงิน และจะต้องยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายในนามของผู้จ่ายเงิน

 กรณีผู้รับเงินรายหนึ่งรายใดได้รับแต่งตั้งเป็นตัวแทนเพื่อดำเนินการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย แทนผู้จ่ายเงินตัวการหลายตัวการ ตัวแทนต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายเป็นรายฉบับทุกครั้งที่จ่ายเงิน และตัวแทนต้องยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายในนามของผู้จ่ายเงินเป็นรายฉบับแต่ละรายผู้จ่ายเงิน

 ข้อ   4   กรณีการประกอบกิจการธุรกิจแฟ็กเตอริงซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับการให้กู้เงินที่เป็นการประกอบกิจการ โดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ที่กำหนดตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนด กิจการที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะและกำหนดฐานภาษีสำหรับกิจการที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะบางกรณี (ฉบับที่ 358) พ.ศ.2542 รายได้สำหรับการประกอบธุรกิจแฟ็กเตอริงที่เป็นดอกเบี้ย ส่วนลด หรือค่าธรรมเนียมที่ผู้ประกอบธุรกิจแฟ็กเตอริงเรียกเก็บจากวงเงินให้สินเชื่อ วงเงินการให้กู้ยืมและวงเงินทดรองจ่าย รายได้ดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นดอกเบี้ยเงินกู้ยืมตามมาตรา 40(4)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร ผู้จ่ายเงินให้กับผู้ประกอบธุรกิจแฟ็กเตอริงมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย 

กรณีผู้ประกอบธุรกิจแฟ็กเตอริงเรียกเก็บค่าบริการที่เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งเข้าลักษณะต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ.2528 และที่แก้ไขเพิ่มเติมตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.101/2544ฯ ลงวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ.2544 ผู้จ่ายเงินมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย

ข้อ   5   กรณีเจ้าของสินค้า (Shipper) ได้ว่าจ้างผู้ขนส่งสินค้าในต่างประเทศซึ่งเป็นประเทศที่มีชายแดนติดต่อกับประเทศไทย เพื่อขนส่งสินค้าออกจากประเทศไทยโดยทางบก ซึ่งผู้ขนส่งสินค้าในต่างประเทศว่าจ้างผู้ขนส่งสินค้าในราชอาณาจักรขนส่งสินค้าจากสถานที่ตั้งในราชอาณาจักรไปยังด่านศุลกากร ณ ชายแดนติดต่อกับประเทศไทย และผู้ขนส่งสินค้าในต่างประเทศจะดำเนินการขนส่งสินค้าจากชายแดนติดต่อกับประเทศไทยไปยังท่าเรือในต่างประเทศ เพื่อส่งมอบสินค้าให้กับสายการเดินเรือต่างประเทศต่อไป กรณีดังกล่าว ถือว่าผู้ขนส่งสินค้าในต่างประเทศเข้ามาประกอบกิจการให้บริการในราชอาณาจักร ดังนั้น เจ้าของสินค้าซึ่งจ่ายเงินค่าขนส่งสินค้าให้กับผู้ขนส่งสินค้าใน ต่างประเทศจึงมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย จากจำนวนเงินที่จ่ายทั้งหมด 

จึงขอชี้แจงมาเพื่อให้ทราบโดยทั่วกัน

กรมสรรพากร

24 สิงหาคม 2544


2933 View

ดูคลังความรู้ทั้งหมด





กรมพัฒนาธุรกิจการค้า Trustmarkthai  Thailand Web Stat
Scroll To Top