cw.in.th > คลังความรู้ > ไทยยังคงเป็นตลาดที่มีเศรษฐกิจดิจิทัลใหญ่เป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
23-Nov-2021

ไทยยังคงเป็นตลาดที่มีเศรษฐกิจดิจิทัลใหญ่เป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

รายงานเศรษฐกิจดิจิทัลเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประจำปี 2021 ที่จัดทำโดย Google, Temasek และ Bain & Company ระบุว่าเศรษฐกิจดิจิทัลของภูมิภาคนี้ กำลังก้าวเข้าสู่ “ทศวรรษแห่งดิจิทัล” และจะมีมูลค่าสูงถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2573 จำนวนผู้บริโภคและผู้ค้าที่ใช้งานบนแพลตฟอร์มดิจิทัลที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ประกอบกับการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ธุรกิจบริการจัดส่งอาหาร และบริการด้านการเงินดิจิทัล ส่งผลให้มูลค่าสินค้ารวม (Gross Merchandise Volume: GMV) ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อาจแตะ 1.78 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐภายในสิ้นปี 2564 และมีแนวโน้มทยานสู่ 3.6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2568 ซึ่งสูงกว่าการประมาณการครั้งก่อนที่คาดว่าจะมีมูลค่า 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

 
ไทยยังคงเป็นตลาดที่มีเศรษฐกิจดิจิทัลใหญ่เป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
 

สำหรับประเทศไทย คาดว่าเศรษฐกิจดิจิทัลจะมีมูลค่าสูงถึง 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2564 โดยมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 51% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ไทยยังคงเป็นตลาดที่มีเศรษฐกิจดิจิทัลใหญ่เป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากอินโดนีเซีย ทั้งนี้คาดว่าในปี 2568 มูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยจะแตะที่ 5.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ 17% ซึ่งสูงขึ้นจากที่เคยคาดการณ์ไว้ถึง 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยก่อนหน้านี้ได้ประมาณการไว้ที่ 5.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

อีคอมเมิร์ซ เป็นแรงผลักดันที่สำคัญของเศรษฐกิจดิจิทัลไทย

 
GMV.png
  • อีคอมเมิร์ซ เป็นแรงผลักดันที่สำคัญของเศรษฐกิจดิจิทัลไทย และคาดว่าจะเป็นกลุ่มธุรกิจหลักที่ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลไทยในทศวรรษหน้า ภาคธุรกิจอีคอมเมิร์ซเติบโตขึ้นถึง 68% จากปีก่อน
  • สื่อออนไลน์ เติบโตขึ้นอย่างแข็งแกร่งถึง 29% ซึ่งขับเคลื่อนโดยจำนวนเกมเมอร์หน้าใหม่ที่เพิ่มขึ้น มีความต้องการซื้อเกมและใช้จ่ายในเกม
  • ธุรกิจส่งอาหารออนไลน์มีการเติบโตที่สดใส ส่งผลให้ภาคธุรกิจการขนส่งและบริการส่งอาหารออนไลน์เติบโตขึ้นถึง 37% ทั้งนี้พบว่าผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในไทยหันมาใช้บริการส่งอาหารออนไลน์เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก โดย 76% ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในไทยสั่งอาหารออนไลน์อย่างน้อยหนึ่งครั้ง
  • ภาคธุรกิจการท่องเที่ยวออนไลน์ยังไม่ฟื้นตัว แต่คาดว่าอาจจะได้เห็นการฟื้นตัวในระยะกลางถึงระยะยาว โดยได้แรงหนุนจากความต้องการที่ถูกอั้นไว้ของผู้บริโภคและความคืบหน้าในการฉีดวัคซีน
 

คลื่นลูกใหม่ของผู้บริโภคบนแพลตฟอร์มดิจิทัล

 

ประเทศไทยมีผู้บริโภคบนแพลตฟอร์มดิจิทัลรายใหม่เพิ่มขึ้นถึง 9 ล้านคนนับตั้งแต่การเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดในปี 2563 (ถึงครึ่งแรกของปี 2564) โดยกว่า 67% ของผู้ใช้รายใหม่อาศัยอยู่นอกหัวเมืองหลัก

 
กว่า 67% ของผู้ใช้บริการดิจิทัลของประเทศไทยรายใหม่อาศัยอยู่นอกหัวเมืองหลัก
 

นอกจากนี้ อัตราการใช้บริการดิจิทัลของประเทศไทยสูงถึง 90% (สูงเป็นอันดับสองในภูมิภาค รองจากสิงคโปร์) โดยมีการใช้บริการดิจิทัลหลากหลายประเภท เช่นการซื้อสินค้าออนไลน์ การใช้บริการส่งอาหารออนไลน์ ผู้ใช้งานเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะใช้งานต่อไปในอนาคต โดยกว่า 96% ของผู้ใช้งานในช่วงการแพร่ระบาดยังคงใช้งานอย่างต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้ และ 98% คาดว่าจะใช้งานต่อไปในอนาคต

 
internet users.png
 

สิ่งที่นักการตลาดควรทำเพื่อคว้าโอกาสในทศวรรษแห่งดิจิทัล

 

แบรนด์จะต้องมีความสามารถในการตอบรับความคาดหวังของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ได้เป็นอย่างดีเพื่อรักษาฐานลูกค้าและเพิ่มความภักดีต่อแบรนด์ (Brand Loyalty) และนี่คือ 3 สิ่งที่นักการตลาดสามารถเริ่มทำได้ตั้งแต่วันนี้เพื่อปูพื้นฐานสู่การเติบโตในอนาคต

 

1. ทำให้ทุกก้าวของลูกค้านั้นง่ายและสะดวกสบาย

 

เหตุผลหลักที่ทำให้ผู้ใช้งานดิจิทัลกว่า 50% ยังคงใช้งานต่อไปในอนาคตคือการที่บริการดิจิทัลช่วยให้ชีวิตของพวกเขาสะดวกสบายขึ้น ดังนั้นการสร้างประสบการณ์ที่ไร้รอยต่อระหว่างออนไลน์และออฟไลน์ คือหนึ่งในวิธีที่ให้ความสะดวกสบายแก่ลูกค้า ผู้ค้าดิจิทัลหรือแบรนด์ควรทำให้การใช้งานบนหน้าเว็บหรือแอปง่าย ด้วยการแสดงผลิตภัณฑ์และคำอธิบายที่เด่นชัด เพื่อให้ลูกค้าค้นหาและเลือกซื้อสินค้าที่ต้องการได้ง่าย

 

2. สร้างความผูกพันระหว่างลูกค้าและแบรนด์ของคุณ

 

สำหรับธุรกิจที่ให้บริการดิจิทัล เช่น แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ เมื่ออัตราการเข้าถึงบริการดิจิทัลของผู้บริโภค (Penetration)เพิ่มขึ้น สิ่งที่สำคัญอาจไม่ใช่การดึงดูดลูกค้าใหม่ แต่คือการเพิ่มความผูกพันของแบรนด์กับลูกค้าและเพิ่มมูลค่าการสั่งซื้อ ผ่านวิธีการต่างๆ เช่น นำเสนอตัวเลือกผลิตภัณฑ์ที่มากขึ้น หรือ พัฒนาแพลตฟอร์มที่รองรับการชำระเงินดิจิทัลที่หลากหลาย และเพิ่มบริการสินเชื่อเพื่อทำให้ประสบการณ์การซื้อสินค้าของลูกค้านั้นง่ายและสะดวกสบายยิ่งขึ้น

 

3. รับฟังความคิดเห็นอย่างต่อเนื่อง

 

การรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับประสบการณ์การใช้งานของลูกค้าตลอดเส้นทางการซื้อ จะช่วยให้แบรนด์ทราบความต้องการของลูกค้าและสิ่งที่ควรปรับปรุง เพื่อที่จะแก้ไขจุดบกพร่องและเพิ่มความพึงพอใจของลูกค้าได้

 

เมื่อมูลค่าสินค้ารวมของเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคนี้กำลังจะแตะ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในทศวรรษแห่งดิจิทัลนี้ แบรนด์ต่างๆ จึงจำเป็นต้องตอบสนองต่อความคาดหวังของผู้บริโภคที่เพิ่มมากขึ้น และสร้างความพึงพอใจในทุกขั้นตอนของเส้นทางการซื้อ ซึ่งวิธีการที่แบรนด์จะสามารถเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงและคว้าโอกาสนี้ไว้มีหลายวิธีด้วยกัน คุณสามารถดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับโอกาสทางธุรกิจ รวมถึงรายละเอียดของแต่ละภาคธุรกิจและแต่ละประเทศได้ที่เว็บไซต์ของรายงานเศรษฐกิจดิจิทัล

ขอบคุณที่มา :: thinkwithgoogle.com


1682 View

ดูคลังความรู้ทั้งหมด





กรมพัฒนาธุรกิจการค้า Trustmarkthai  Thailand Web Stat
Scroll To Top