cw.in.th > คลังความรู้ > อยากย้ายผู้ให้บริการโดเมน ต้องทำอย่างไร
05-Sep-2016

อยากย้ายผู้ให้บริการโดเมน ต้องทำอย่างไร

สำหรับคนที่จดทะเบียนโดเมนเนม และใช้งานเว็บโฮสติ้งอยู่แล้ว หลายๆ คน หรือส่วนใหญ่จะไม่รู้ว่า นอกจากที่เราจะสามารถย้ายเว็บโฮสติ้งเพื่อไปใช้บริการกับผู้ให้บริการอื่นๆ ได้แล้ว เรายังสามารถย้ายโดเมนเนมที่เราจดทะเบียนไว้แล้ว ไปยังผู้ให้บริการอื่นๆ ได้อีกด้วย โดยที่มีขั้นตอนการดำเนินการเล็กน้อย แต่แน่นอนมันไม่ได้ยากเกินกว่าที่เราจะทำได้
ก่อนอื่นต้องขอบอกก่อนว่า การย้ายโดเมนเนมกับการย้ายเว็บโฮสติ้ง เป็นคนละเรื่องกัน คือเราสามารถย้ายโดเมนเนมโดยไม่ย้ายเว็บโฮสติ้งก็ได้ และเราก็สามารถย้ายเว็บโฮสติ้งโดยไม่ย้ายโดเมนเนมก็ได้ เนื่องจากทั้งโดเมนเนม และเว็บโฮสติ้งเป็นบริการคนละส่วนกัน ฉะนั้นเราสามารถจดทะเบียนโดเมนเนมกับผู้ให้บริการรายหนึ่ง แล้วไปใช้บริการเว็บโฮสติ้งกับผู้ให้บริการอีกรายหนึ่งได้

การย้ายโดเมนเนม แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะได้ดังนี้

ย้ายโดเมเนนมที่จดทะเบียนกับผู้ให้บริการรับจดทะเบียนโดยตรง หรือ Registrar
ในกรณีนี้โดยส่วนมากจะเป็นโดเมนเนมที่จดทะเบียนกับผู้ให้บริการรับจดทะเบียนโดเมนเนมในต่างประเทศ เช่น eNom, Go Daddy, Tucows, Network Solutions, OnlineNic เป็นต้น เนื่องจากในประเทศไทยไม่มีผู้ให้บริการที่รับจดทะเบียนโดเมนเนมที่ได้รับสิทธิ์เป็น Registrar โดยตรง (ส่วนใหญ่จะเป็น Reseller ของ Registrar ในต่างประเทศอีกที) แต่ในต่างประเทศจะมีผู้ให้บริการที่ได้รับสิทธิ์ (ลักษณะคล้ายๆ สัมปทาน) ในการรับจดทะเบียนโดเมนเนม และสามารถแต่งตั้ง Reseller ขึ้นมาเพื่อรับจดทะเบียนโดเมนเนมต่ออีกทอดหนึ่งได้
สำหรับขั้นตอนการย้ายโดเมนเนม กรณีที่จดทะเบียนกับ Registrar โดยตรงมีขั้นตอนคราวๆ ดังนี้

1. Login เข้าสู่ระบบบริหารจัดการโดเมนเนม (Manage Domain) เพื่อขอ Auth Code หรือ EPP Code จากระบบ สำหรับ Auth Code หรือ EPP Code นั้นจะเป็นเสมือนรหัสลับของโดเมนเนมแต่ละตัว ซึ่งจะไม่เหมือนกัน และใช้สำหรับการย้ายโดเมนเนมเท่านั้น (สำหรับรหัสผ่าน เพื่อเข้าจัดการโดเมนเนม จะเป็นอีกชุดหนึ่ง) โดยเมื่อทำการร้องขอเรียบร้อยแล้ว ระบบจะส่ง Auth Code หรือ EPP Code ไปที่อีเมลล์ของ Administrative’s contact ของโดเมนเนมเท่านั้น (ดังนั้นท่านต้องตรวจสอบให้มั่นใจก่อนว่าอีเมลล์ดังกล่าวเป็นของท่านจริง)
2. ติดต่อผู้ให้บริการรับจดทะบียนโดเมนเนมปลายทาง (ที่เราจะย้ายไป) โดยอาจจะเป็นการสั่งซื้อบริการย้ายโดเมนเนมผ่านหน้าเว็บไซต์ โดยกรอกข้อมูลให้ครบถ้วน ตรงนี้ระบบจะให้เราใส่ Auth Code หรือ EPP Code ด้วย หากไม่มีก็จะไม่สามารถทำต่อได้ หรือบางที่อาจจะให้เราส่ง Auth Code หรือ EPP Code ให้ผู้ให้บริการโดยตรง เพื่อให้เขาจัดการให้ หลังจากนั้นก็ชำระค่าบริการ โดยส่วนมากค่าบริการจะเท่ากัน หรือใกล้เคียงกับค่าบริการจดทะเบียนโดเมนเนมใหม่ของผู้ให้บริการรายนั้นๆ (สำหรับค่าบริการย้ายโดเมนเนมนี้ จะไม่สูญเปล่า เนื่องจากเมื่อย้ายโดเมนเนมเรียบร้อยแล้ว ระบบจะต่ออายุโดเมนเนมให้เราอีก 1 ปี)
3. เมื่อดำเนินการทั้งหมดเรียบร้อยแล้วให้รออีเมลล์เพื่อให้ทำการยืนยันการย้ายโดเมนเนม โดยอีเมลล์จะถูกส่งมาที่อีเมลล์เดียวกับที่ท่านได้รับ Auth Code หรือ EPP Code (อีเมลล์ Administrative’s contact) โดยในอีเมลล์จะมีลิงค์สำหรับคลิกเพื่อทำการยืนยันว่าต้องการย้ายโดเมนเนมจริง (ก็ทำตามคำแนะนำในอีเมลล์ได้เลย) และยังเป็นการยืนยันว่าคำร้องขอย้ายโดเมนเนมมาจากความต้องการของเจ้าของโดเมนเนมอย่างแท้จริงอีกด้วย (เพราะถ้าเราไม่ได้เป็นคนทำเรื่องย้าย และมีอีเมลล์มาแสดงว่ามีคนพยายามย้ายโดเมนเนมเราแล้ว) หลังจากยืนยันตามขั้นตอนแล้ว ระบบจะใช้เวลาประมาณ 5-7 วันในการดำเนินการ (ขึ้นอยู่กับผู้ให้บริการแต่ละราย)

ย้ายโดเมเนนมที่จดทะเบียนกับ Reseller ของ Registrar
สำหรับโดเมนเนมที่จดทะเบียนกับ Reseller ของ Registrar ส่วนมากคือโดเมนเนมที่เราจดทะบียนกับผู้ให้เว็บโฮสติ้ง หรือจดทะเบียนกับผู้ให้บริการจดทะเบียนโดเมนเนมในไทย ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะเป็นผู้ให้บริการจดทะเบียนโดเมนเนมที่เป็น Reseller ของ Registrar ที่อยุ่ต่างประเทศอีกต่อหนึ่ง
สำหรับขั้นตอนในการย้ายโดเมนเนน ก็จะมีขั้นตอนในการย้ายเหมือนกับโดเมนเนมที่จดทะเบียนกับผู้รับจดทะเบียนโดเมนเนมโดยตรง เพราะที่สุดแล้วโดเมนเนมของเราก็อยู่ภายใต้ Registrar เหมือนกัน ไม่ว่าจะจดโดยตรง หรือจดผ่านทาง Reseller แต่ที่อาจจะมีความแตกต่างบ้างในขั้นตอนการโอนย้ายก็คือ การขอ Auth Code หรือEPP Code อาจจะต้องให้ผู้ให้บริการเป็นผู้ส่งคำขอ Auth Code หรือEPP Code แทนเรา โดยที่เราต้องแจ้งผ่านทางอีเมลล์ หรือโทรศัพท์เพื่อให้ช่วยดำเนินการ แต่ไม่ว่าใครจะเป็นผู้ยื่นคำขอ Auth Code หรือ EPP Code อีเมลล์ ก็จะแจ้งข้อมูลมาที่อีเมลล์ Administrative’s contact ของโดเมนเนมเหมือนกัน หลังจากได้มาแล้ว เราก็ติดต่อไปที่ผู้ให้บริการจดทะเบียนโดเมนเนมปลายทาง จากนั้นก็ทำตามขั้นตอนการย้ายเหมือนกับที่เขียนไว้ด้านบน 

ข้อแนะนำเพิ่มเติม
1. ควรดำเนินการย้ายโดเมนเนมก่อนโดเมนเนมหมดอายุ 30 วันเป็นอย่างน้อย เพื่อป้องกันปัญหาโดเมนเนมหมดอายุระหว่างการย้าย อาจทำให้การย้ายไม่สำเร็จ
2. ควรตรวจสอบให้มั่นใจว่าโดเมนเนมไม่ถูกล๊อก (อยู่ในสถานะ Lock) หากอยู่ในสถานะ Lock ให้แจ้งผู้ให้บริการจดทะเบียนโดเมนเนมทำการปลดล๊อก (Unlock) ให้ก่อนจึงจะทำการย้ายได้
3. ตรวจสอบให้มั่นใจว่า อีเมลล์ Administrative’s contact เป็นอีเมลล์ของเรา หากไม่ใช่ควรเปลี่ยนแปลงให้เรียบร้อยก่อนเริ่มขั้นตอนการย้าย
4. ระหว่างการย้ายโดเมนเนม จะไม่มีผลกระทบกับการใช้งานเว็บฯ และอีเมลล์ ใดๆ ทั้งสิ้น
5. ขั้นตอน และวิธีการย้ายโดเมนเนมข้างต้นเป็นการย้ายโดเมนเนมแบบ TLD เช่น .com, .net, .org, .biz, .info ฯลฯ เท่านั้น สำหรับโดเมนเนมที่ลงท้ายด้วย .th เช่น .co.th, .in.th, .ac.th, .go.th ฯลฯ จะไม่มีระบบการย้ายโดเมนเนม เนื่องจากอยู่ภายใต้การดูแลของบริษัท ที เอช นิค จำกัด ที่เป็น Registrar แต่เพียงผู้เดียวอยู่แล้ว
6. สามารถตรวจสอบสถานะโดเมนเนมได้ที่ http://whois.domaintools.com หรือ http://www.vhostweb.com/domain_whois.asp


2340 View

ดูคลังความรู้ทั้งหมด





กรมพัฒนาธุรกิจการค้า Trustmarkthai  Thailand Web Stat
Scroll To Top